ตัววิ่ง

ยินดีต้อนรับสู่เว็บบล็อก ของ นางสาว เมธาพร กิจธนโชค ได้ ณ บัดนี้เลยค่ะ

วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2559

บทที่ 7 กฎหมายในชีวิตประจำวัน

๑.กฎหมาย
๑.๑ ความหมายของกฎหมาย
ความหมายของกฎหมายนั้น ได้มีนักปรัชญาและนักกฎหมายให้คำนิยามไว้ต่างกันดังตัวอย่าง เช่น
          จอห์น ออสติน (John Austin) ปรัชญาเมธีทางกฎหมายชาวอังกฤษ อธิบายว่า กฎหมาย คือ คำสั่งคำบัญชาของรัฏฐาธิปัตย์  ซึ่งบังคับใช้กับกฎหมายทั้งหลาย  ถ้าผู้ใดไม่ปฎิบัติตาม โดยปกติแล้ว ผู้นั้นต้องรับโทษ
          หลวงจำรูญเนติศาสตร์ อธิบายว่า กฎหมาย คือ กฎข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติซึ่งผู้มีอำนาจของประเทศได้บัญญัติขึ้น และบังคับให้ผู้ที่อยู่ในสังกัดของประเทศนั้นถือปฏิบัติตาม

          ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย นักกฎหมาย อธิบายว่า กฎหมาย ต้องแยกออกเป็นกฎหมายตามเนื้อความและกฎหมายตามแบบพิธีเสียก่อน จึงจะสามารถอธิบายความหมายของกฎหมายได้ถูกต้อง  โดยกฎหมายตามเนื้อความ คือ กฎหมายที่บัญญัติมีลักษณะเป็นกฎหมายแท้  ได้แก่  ข้อบังคับของรัฐซึ่งกำหนดความประพฤติของมนุษย์ ถ้าฝ่าฝืนจะได้รับผลร้ายหรือถูกลงโทษ และกฎหมายตามแบบพิธี คือ กฎหมายที่ออกมาโดยวิธีบัญญัติกฎหมายไม่ต้องคำนึงว่ากฎหมายนั้นเข้าลักษณะ เป็นกฎหมายตามเนื้อความหรือไม่ เช่น พระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี เพราแม้ว่าจะเป็น พระราชบัญญัติ” หรือเป็นกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้มีลักษณะเป็นกฎหมายตามเนื้อความแต่ประการใด และมิได้มีข้อความบังคับความประพฤติของพลเมือง  แต่จำเป็นต้องทำเป็นพระราชบัญญัติ  เพื่อให้การใช้เงินแผ่นดินของรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารได้รับการพิจารณากลั่นกรองจากรัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติก่อนเท่านั้น  เป็นต้น” 

บทที่ 6รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ความเป็นมาและความสำคัญ

ประเทศเกือบทั้งหมดในโลกย่อมต้องมีรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้เป็นเครื่องกำหนดรูปแบบในการปกครองประเทศ ไม่ว่าประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย สังคมนิยม หรือแบบคอมมิวนิสต์ ต่างมีรัฐธรรมนูญตามแบบฉบับของประเทศตนเองทั้งสิ้น สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษร ประเทศไทยเคยมีทั้งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่จัดทำขึ้นในขณะที่บ้าน เมืองอยู่ในภาวะไม่สงบ หรือหลังจากมีการปฏิบัติรัฐประหารและรัฐธรรมนูญฉบับถาวร โดยรวมทั้งสองประเภทแล้ว ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้น 18 ฉบับ ฉบับปัจจุบัน คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2550 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550

บทที่5 ระบอบการเมืองการปกครอง

ลักษณะการเมืองการปกครอง
ระบอบประชาธิปไตย
คือ ระบอบการปกครองตนเองของประชาชน โดยผ่านการเลือกสมาชิกผู้แทนราษฎรไปบริหารและดูแลเรื่องกฎหมาย เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่และโดยการตรวจสอบควบคุมดูแลของประชาชนโดยตรงหรือการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน เช่น การยื่นเสนอหรือแก้ไขกฎหมาย การยื่นถอดถอนนักการเมืองที่ประพฤติมิชอบ การแสดงความคิดในการทำประชาพิจารณ์ การออกเสียงในการทำประชามติ
          ระบอบประชาธิปไตย ระบอบนี้มีลักษณะเด่นอยู่ที่การแข่งขันอย่างเสรีระหว่างกลุ่มหรือพรรคการเมืองต่างๆ เพียงเพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนส่วนมากในประเทศให้เป็นรัฐบาล ทำหน้าที่บริหารกิจการต่างๆ ของประเทศตามนโยบายที่กลุ่มหรือพรรคนั้นได้วางไว้ล่วงหน้า ลักษณะเด่นดังกล่าวนี้จะดำรงอยู่ได้ตลอดไปถ้ากลุ่มหรือพรรคการเมืองนั้น ๆ ยึดหลักการประชาธิปไตยเป็นหลักในการต่อสู้แข่งขันทางการเมืองการปกครอง

บทที่4 สิทธิมนุษยชน

สิทธิมนุษยชน
ความหมายของสิทธิมนุษยชน
สิทธิมนุษยชน(Human Rights) หมายถึง สิทธิของความเป็นมนุษย์ ในอดีตยังไม่เป็นที่แพร่หลาย จนภายหลังที่ได้มีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติแล้ว คำว่า สิทธิมนุษยชน จึงได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ในกฎบัตรสหประชาชาติได้กล่าวถึงสิทธิมนุษยชนไว้หลายแห่ง เช่นในอารัมภบท ได้กล่าวถึงความมุ่งหมายของสหประชาชาติไว้ว่า เพื่อเป็นการยืนยันและให้การรับรองถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ในศักดิ์ศรีและคุณค่าของมนุษยชาติ"
ความสำคัญของสิทธิมนุษยชน
ในยุคโบราณซึ่งเต็มไปด้วยความยากลำบาก ทุกหนแห่งมีความไม่เสมอภาคกัน มนุษย์ถูกแบ่งเป็นชนชั้น ชนชั้นล่างจะถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกปฏิบัติเฉกเช่นเดียวกับสิ่งของ สิทธิถูกสงวนไว้สำหรับขุนนางซึ่งเป็นชนชั้นสูงเท่านั้น
ต่อมามนุษย์เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง มีเหตุมีผลมากขึ้น จึงเริ่มมีแนวคิดใหม่ๆว่า สิทธิซึ่งแต่เดิมเฉพาะชนชั้นสูงเท่านั้นจึงจะมีได้ สมควรที่จะมอบให้กับประชาชนทุกคน ดังนั้นจึงเกิดแนวคิดที่ว่า

สิทธิ คือ อำนาจหรือประโยชน์ที่บุคคลพึงมีพึงได้

บทที่ 3 การเป็นพลเมืองดีของชาติและสังคมโลก


สาระการเรียนรู้
1.การเคารพกฎหมายและกติกาสังคม
2.การเคารพสิทธิเสรีภาพของตนเองและบุคลอื่น
3.การมีเหตุผล รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
4.การมีความรับผิดชอบต่อตนเอง ชุมชน ประเทศชาติและสังคมโลก
5.การเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองการปกครอง
6.การมีส่วนร่วมในการป้องกัน แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม
 การเมืองการปกครอง และสิ่งแวดล้อม
7.การมีคุณธรรมจริยธรรมเป็นหลักในการดำเนินชีวิต
แนวคิดหลัก  คุณลักษณะพลเมืองดีของประเทศชาติและสังคมโลกที่สำคัญคือ
 การเคารพกฎหมายและกติกาสังคม การเคารพสิทธิเสรีภาพของตนเองและบุคคลอื่น 
มีเหตุผล รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีความรับผิดชอบต่อตนเอง และสิ่งแวดล้อม 
รวมถึงการมีคุณธรรมจริยธรรมเป็นหลักในการดำเนินชีวิต

บทที่ 2        เรียนรู้วัฒนธรรม
สาระการเรียนรู้
1.ความหมายและความสำคัญของวัฒนธรรม
2.ลักษณะและความสำคัญของวัฒนธรรมไทย
3.การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและแนวทางอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยที่ดีงาม
4.ความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมสากล
5.วิธีการเลือกรับวัฒนธรรมสากล
ความหมายและความสำคัญของวัฒนธรรม
Ø ความหมายของวัฒนธรรม
       วัฒนธรรม หมายถึง แบบแผนการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่มนุษย์สร้างขึ้นในแต่ละสังคม ซึ่งแต่ละสังคมจะต้องมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป
       พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ได้นิยามความหมายของวัฒนธรรมไว้ 2 นัย ดังนี้
       1.สิ่งที่ทำความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ เช่นวัฒนธรรมไทย,วัฒนธรรมในการแต่งกาย เป็นต้น
       2.วิถีชีวิตของหมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมพื้นบ้าน,วัฒนธรรมชาวเขา เป็นต้น
       วัฒนธรรม เป็นแบบแผนที่ครอบคลุมวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ วัฒนธรรมพื้นฐานและความจำเป็นของมนุษย์ ได้แก่ ภาษา ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน ปัจจัย 4 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ขอบข่ายของวัฒนธรรมแสดงถึงขีดความสามารถของมนุษย์ในการศึกษาเรียนรู้ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆสำหรับการปรับตัว แก้ปัญหา พัฒนาวิถีการดำเนินชีวิต และตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทั้งทางกาย เช่น การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และทางใจ เช่น ศาสนา ประเพณี ความเชื่อต่างๆ เป็นต้น
Ø ความสำคัญของวัฒนธรรม
        วัฒนธรรมทำให้คนในสังคมสามารถบ่งชี้สภาพแบบแผนการดำเนินชีวิต และยังทำให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มนุษย์ใช้วัฒนธรรมในการตอบสนองความต้องการของชีวิตและปรับตัวให้เข้ากับสังคมแต่ละแห่ง วัฒนธรรมจึงสามารถเป็นตัวก่อให้เกิดความสมานฉันท์ ที่เกิดจากความภูมิใจและการสะท้อนตัวตนของความเป็นคนในสังคมได้
        วัฒนธรรมแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
        1.วัตถุธรรม หมายถึง วัฒนธรรมด้านสิ่งประดิษฐ์ที่มองเห็นและสัมผัสได้ เช่น เครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค บ้านเรือน เป็นต้น
        2.คติธรรม หมายถึง วัฒนธรรมเกี่ยวกับหลักการดำเนินชีวิต ซึ่งจะได้มาจากหลักธรรมทางศาสนา
        3.เนติธรรม หมายถึง วัฒนธรรมทางกฎหมาย เพื่อการบังคับและควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกในสังคม รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ
        4.สหธรรม หมายถึง วัฒนธรรมทางสังคม เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและปลอดภัย รวมทั้งระเบียบมารยาทที่ใช้ติดต่อภายในสังคม เช่น การไหว้ การแต่งกาย เป็นต้น
ลักษณะและความสำคัญของวัฒนธรรมไทย
        วัฒนธรรมไทยเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย เป็นผลรวมจากความรู้ ความคิด สติปัญญาของมนุษย์ ที่สั่งสมสืบต่อกันมาโดยผ่านการปรับปรุงพัฒนาให้เหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยของสังคมไทย ทั้งวัฒนธรรมเดิมของไทยและวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากชนชาติต่างๆ ซึ่งถูกนำมาปรับปรุง ผสมผสาน และกล่อมเกลาจนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยไปในที่สุด
        วัฒนธรรมไทยมีลักษณะและความสำคัญที่สะท้อนค่านิยม ดังนี้
        1.สร้างความรักและความผูกพันในครอบครัว ตัวอย่างเช่น วันสงกรานต์ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยในอดีตนั้น ความรักและความผูกพันจะแสดงออกมาโดยบิดามารดาและญาติผู้ใหญ่จะจัดเสื้อผ้าชุดใหม่ให้แก่บุตรธิดา พร้อมเครื่องประดับตามฐานะเพื่อไปทำบุญ ขณะที่บุตรธิดาจะจัดเสื้อผ้าให้บิดามารดาและญาติผู้ใหญ่ได้สวมใส่หลังพิธีรดน้ำดำหัว ส่วนในปัจจุบันคนไทยจะกลับบ้านเพื่อรดน้ำและขอพรจากบิดามารดา และญาติผู้ใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อชีวิต
        2.ความเคารพกตัญญูต่อผู้ใหญ่ และผู้มีพระคุณ วิถีชีวิตไทยถือเอาความกตัญญูต่อผู้ใหญ่ และผู้มีพระคุณเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด การตอบแทนพระคุณจะแสดงออกมาได้หลายรูปแบบ เช่น การบรรพชาอุปสมบทของชายไทยเพื่อตอบแทนพระคุณบิดามารดาที่ได้เลี้ยงดูอุ้มชูมาแต่เล็กจนโต หรือการระลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษในวันสารทไทย โดยจัดพิธีบังสุกุลเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไป
       3.ความศรัทธาในการทำบุญให้ทาน  ในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา เป็นต้น คนไทยแต่ละครอบครัวจะเตรียมของสำหรับทำบุญตักบาตรด้วยจิตใจศรัทธา นอกจากนี้การทำบุญยังเป็นสิ่งที่คนไทยถือปฏิบัติก่อนการเริ่มงานประเพณีต่างๆ เช่นวันสงกรานต์ วันลอยกระทง วันเข้าพรรษา ฯลฯ ความศรัทธาในการทำบุญ ยังจะเห็นได้จากการจัดให้มีการทอดกฐิน การทอดผ้าป่าเพื่อให้พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาได้มีสิ่งของเครื่องใช้อันจำเป็นเพื่อการปฏิบัติธรรม ด้วยศรัทธาในการทำบุญนี้เองที่ทำให้สามารถสืบต่ออายุพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน
       4.เอกลักษณ์ทางศิลปกรรม  ซึ่งจะแสดงออกมาทั้งในด้านสถาปัตยกรรม เช่น การสร้างวัด บ้านเรือนด้านจิตรกรรม เช่น การวาดภาพฝาผนัง ด้านวรรณกรรม เช่น ไตรภูมิพระร่วง เป็นต้น
      5.การสร้างความสามัคคีในชุมชน  ตัวอย่างที่เห็นได้ คือ ในวันเข้าพรรษา ชาวบ้านจะไปช่วยกันก่อเจดีย์ทราย ซึ่งนอกจากเป็นการทำบุญแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงพลังของชุมชน ในการที่จะทำนุบำรุงวัดในหมู่บ้านของตนให้เจริญยิ่งขึ้นอีกด้วย หรือในวันสงกรานต์ สมาชิกในครอบครัวจะร่วมกันทำความสะอาดบ้านเรือนและสิ่งของเครื่องใช้เพื่อต้อนรับวันปีใหม่ หรือในวันสำคัญทางศาสนา ชาวบ้านจะร่วมมือกันจัดเตรียมสิ่งของสำหรับไปทำบุญ
      6.เอกลักษณ์ทางภาษา  ชาติไทยมีภาษาเป็นของตนเอง ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น การใช้ภาษาไทยของคนไทย มีเอกลักษณ์สำคัญคือ การเป็นคน เจ้าบทเจ้ากลอน ซึ่งจะพบได้ในการละเล่นทั่วไป เช่น ลำตัด มโนราห์ เป็นต้น การใช้ภาษาในงานนี้ จะมีการใช้ถ้อยคำที่ลึกซึ้งกินใจ มีความหมาย และยังแฝงไปด้วยไหวพริบปฏิภาณในการคิดคำโต้ตอบอีกด้วย
    7.ความยับยั้งใจและความมีระเบียบวินัย  ตัวอย่างเช่น การผิดผี หมายถึง การต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดมา การละเมิดกฎเกณฑ์นั้นถือว่าผิดผี ซึ่งต้องมีการขอขมาและมีการลงโทษโดยผู้สูงอายุที่เป็นตัวแทนของบรรพบุรุษเป็นผู้แนะนำ ตักเตือนและดำเนินการ เช่น หนุ่มสาวที่ยังไม่ได้แต่งงานกันอย่างถูกต้อง ห้ามถูกเนื้อต้องตัวกัน ซึ่งสิ่งนี้เป็นการสร้างวินัยและการยับยั้งชั่งใจเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำเกินกว่าสมควร ถ้าใครประพฤติผิดถือว่า ผิดผี ต้องมีการลงโทษโดยการ เสียผี คือมีการชดใช้การกระทำความผิดนั้น
      อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมไทยดังกล่าวข้างต้น กำลังจะถูกลบเลือนไปในสภาพปัจจุบัน สุนทรียภาพอันเกิดจากภาษาและดนตรีที่ไพเราะเพราะพริ้งด้วยท่วงทำนองได้ถูกแทนที่ด้วยบทเพลงสมัยใหม่จากต่างชาติในวันสงกรานต์ พฤติกรรมที่แสดงออกให้เห็นถึงความเอื้ออาทร ความห่วงใย และความปรารถนาดีที่จะมีให้แก่ผู้อื่น ความสุ๘จากการประพรมน้ำ ถูกแทนที่ด้วยบุคคลบางกลุ่ม ไม่สนใจในความเจ็บปวดและอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ในวันไหว้ครูกิจกรรมหลายอย่างได้ถูกยกเลิกไป พิธีอันเคยสง่างามถูกกระทำแบบง่ายๆให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
      ถึงแม้ว่าจะเป็นไปได้ยากที่เราจะเรียกร้องให้นำเอาวัฒนธรรมไทยอันดีงามทั้งหมดในอดีตกลับคืนมาสู่ยุคปัจจุบัน แต่ถ้าคนไทยได้ตระหนักถึงคุณค่าและดัดแปลงให้เหมาะกับยุคสมัย ก็เท่ากับว่าเราเป็นผู้หนึ่งที่ได้จรรโลงวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่คู่กับสังคมไทยสืบไป
การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและแนวทางอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยที่ดีงาม
      วัฒนธรรม เป็นสิ่งที่คนในสังคมยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน จนกลายเป็นมรดกทางสังคม แต่เนื่องด้วยยุคสมัยเปลี่ยนไป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม ดังนั้นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะวัฒนธรรมที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความเจริญก้าวหน้าของประเทศได้
Ø การปับปรุงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมไทย
        วัฒนธรรมไทยที่มีมาแต่อดีตของสังคมไทยที่ควรเปลี่ยนแปลง
        1.การทำงาน  คนไทยมักทำงานจับจด ชอบทำงานสบายที่ได้เงินดีโดยไม่ต้องเปลืองแรง มักโทษโชคชะตาที่ไม่เข้าข้างตน ไม่มีระเบียบวินัย สิ่งที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้น คือ
        1.1ความขยันและอดทน ทำงานหนักและพึ่งตนเอง  พื้นฐานของความสำเร็จของชีวิตและสังคมจะขึ้นอยู่กับความขยันและอดทนของแต่ละคนเป็นสำคัญ ในระบบการศึกษาของชาติที่พัฒนา เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ได้สอนให้คนในชาติขยัน อดทน ทำงานหนัก มาตั้งแต่เล็ก นักเรียนต้องศึกษาอย่างจริงจัง ต้องใช้เวลากับวิชาต่างๆอย่างมากพอ ต้องอดทนต่อการเรียนอย่างเต็มที่ ดังนั้นความสำเร็จในการศึกษาของนักเรียนของชาติที่พัฒนาจึงขึ้นอยู่กับความขยัน การอดทนและการทำงานหนักของเด็ก และสิ่งนี้จะถูกปลูกฝังและสะสมไปจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เมื่อคนในชาติเหล่านี้มีคุณภาพสูงมาตั้งแต่ต้น พวกเขาก็จะกลายเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันให้ชาติของเขาเจริญก้าวหน้าและมีพัฒนาการดีขึ้นตลอดเวลา
         1.2การมีระเบียบวินัย  ในสถาบันการศึกษาต้องสอนให้เด็กปฏิบัติตามระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ตั้งใจเรียน แต่งกายถูกระเบียบ ไม่คุยกันหรือใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะอยู่ในห้องเรียน ซึ่งผลที่เกิดขึ้นก็คือ เด็กจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีระเบียบวินัย ทำตามกฎเกณฑ์และกติกาต่างๆของสังคมได้อย่างถูกต้อง
          2.ความเป็นระบบและบูรณาการ  สังคมไทยจะสอนให้คนมองแบบแยกส่วน ไม่เชื่อมต่อกัน ไม่นิยมการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม สิ่งที่ควรปรับเปลี่ยนคือ การมองสิ่งต่างๆ ให้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เช่น การเรียนรู้ของนักเรียนไม่ควรจำกัดอยู่เพียงแต่วิชาการในห้องเรียนเท่านั้น สิ่งอื่นๆที่ไม่ใช่วิชาการโดยตรง เช่น ศิลปะ ดนตรี พลศึกษา การทำงานบ้าน การบำเพ็ญประโยชน์ การทำงานร่วมกับชาวบ้าน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ควรจะนำมาเชื่อมโยงและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ ที่เท่าเทียมกันกับวิชาในชั้นเรียน กล่าวคือ ในกระบวนการเรียนการสอน นักเรียนจะต้องถูกเข้มงวดในเรื่องวิชาการ แต่ในในขณะเดียวกัน นักเรียนจะต้องเคร่งครัดในเรื่องการทำกิจกรรมในโรงเรียน สอนให้รักธรรมชาติ สอนให้ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน อบรมการเข้ากลุ่ม และการเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน
           3.ระบบอุปถัมภ์  ความสัมพันธ์ในลักษณะของการอุปถัมภ์ค้ำจุนกันระหว่างบุคคลในสังคมไทยถือเป็นวัฒนธรรมที่หยั่งรากฝังลึกกันมานาน การคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานมักแต่งตั้งจากผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือคนที่โปรดปรานเป็นพิเศษ โดยไม่คำนึงถึงความรู้ความสามารถของบุคคลเป็นเกณฑ์ มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกันด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการพัฒนาประเทศไทยไม่ก้าวไปข้างหน้าเท่าที่ควร ดังนั้นจึงควรมีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์ให้เป็นระบบคุณธรรม ดังเช่นที่มีการใช้กันอยู่ทั่วไปในประเทศพัฒนา ได้แก่ ยึดถือความรู้ความสามารถเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกบุคคล ปฏิบัติต่อบุคคลอย่างเสมอหน้ากันโดยใช้ระเบียบและมาตรฐานเดียวกัน เปิดโอกาสให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ยึดมั่นในเส้นทางที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
           4.การฉ้อราษฎร์บังหลวง  ในสังคมไทยการฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ทราบกันโดยทั่วไป เช่น การจ่ายสินบนเพื่อให้ได้การผูกขาดกิจการบางประเภท การยักยอกเงินค่าธรรมเนียมโดยไม่นำเงินส่งหน่วยงาน การรับเงินค่านายหน้า เมื่อมีการจัดซื้อของในหน่วยงาน การสมยอมกันในการจัดซื้อจัดจ้าง หรือสิทธิในการดำเนินการเพื่อจัดหาสินค้าและบริการสาธารณะ อันทำให้มิได้มีการแข่งขันกันเสนอประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงานของรัฐ และประเทศชาติอย่างแท้จริง ฯลฯ
           การฉ้อราษฎร์บังหลวงไม่เคยสร้างคุณค่าหรือประโยชน์ให้แก่สังคม แต่กลับทำลายศีลธรรมและจริยธรรมของชุมชน ทำให้การจัดสรรและการใช้งบประมาณขาดประสิทธิภาพ ทรัพยากรซึ่งควรจะนำไปใช้สร้างบริการสาธารณสุขที่ดี บริการการศึกษาที่ดี บริการสาธารณูปโภคที่ดี ฯลฯ กลับต้องไปตกอยู่ในมือของบุคคลจำนวนน้อย ซึ่งจะหมายถึงการสูญเสียโอกาสที่ดีสำหรับการพัฒนาประเทศ ดังนั้นสิ่งที่ควรสร้างขึ้นคือ การสร้างและปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้เกิดขึ้นแก่คนไทยตั้งแต่เด็ก รณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงภัยของ การฉ้อราษฎร์บังหลวง สร้างช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อการแจ้งเบาะแสและร้องเรียนเกี่ยวกับ การฉ้อราษฎร์บังหลวง และมีมาตรการตรวจสอบและลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด แม้ว่าจะเป็นนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงก็ตาม
Ø แนวทางการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย
         รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 ได้ให้ความสัมพันธ์ในประเด็นของการอนุรักษ์วัฒนธรรมไว้เช่นเดียวกันคือ
        1.บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
    2.บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ  รับราชการทหาร เสียภาษีอากร ช่วยเหลือราชการ รับการศึกษาอบรมพิทักษ์ ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
       3.รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างเสริมความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยในศิลปะวิทยาการต่างๆเร่งรัดพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาประเทศ พัฒนาวิชาชีพครู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ และวัฒนธรรมของชาติ
       4.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีหน้าที่บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีสิทธิที่จะจัดการศึกษาอบรม และการฝึกอาชีพตามความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่นและเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอบรมของรัฐซึ่งการจัดการศึกษาอบรมภายในท้องถิ่นนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องคำนึงถึงการบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูปัญญาท้องถิ่นด้วย
       5.เผยแพร่วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยของทุกท้องถิ่นไปให้ประชาชนไทยทั้งประเทศได้รับรู้กันอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ เห็นคุณค่าและยอมรับวัฒนธรรมของท้องถิ่นซึ่งกันและกันอันจะนำไปสู่ความรักและหวงแหนในวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของกลุ่มชนทุกหมู่เหล่าภายในชาติ
    6.สนับสนุนส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยกับต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างชาติ
       7.วางมาตรการให้หน่วยงานของรัฐและของเอกชน ที่ดำเนินงานด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย ได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิด โดยการระดมสรรพกำลังทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อรักษาและส่งเสริมวัฒนธรรมให้มั่นคงเป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตของประชาชนตลอดจนร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม เพื่อให้วัฒนธรรมมีบทบาทสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง 
ความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมสากล
       วัฒนธรรมในแต่ละสังคมย่อมมีความแตกต่างกันออกไป ในที่นี้จะนำเสนอความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมสากล โดยเน้นไปที่วัฒนธรรมของโลกตะวันออกซึ่งมีความใกล้ตัว และเป็นกระแสที่ถาโถมเข้ามายังวัฒนธรรมไทยอย่างมากในปัจจุบัน
       วัฒนธรรมสากล คือวัฒนธรรมต่างชาติ ซึ่งอาจเป็นโลกตะวันตกอันมีวัฒนธรรมยุโรปและอเมริกาเป็นจุดเด่น และโลกตะวันออกอันมีวัฒนธรรมของเอเชียเป็นจุดเด่น
       1.วัฒนธรรมด้านอาหาร
        อาหารของโลกตะวันตกเน้นความสะดวกสบาย ทั้งขั้นตอนการทำและการเข้าถึงในการบริโภค เน้นแป้งและเนื้อสัตว์ เพื่อให้ร่างกายมีไขมัน สร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกายที่มีอากาศหนาวเย็น ส่วนโลกตะวันออกจะรู้จักนำสมุนไพรมาปรุงแต่งเป็นอาหาร มีความพิถีพิถันในการปรุงแต่งจัดวาง สร้างคุณค่าแก่ผู้บริโภคทั้งร่างกายและจิตใจ
        อาหารประจำชาติไทย  ประเทศไทยมีทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน สำหรับอาหารคาวของไทยนั้น จะมีทุกรส ทั้งเค็ม หวาน เปรี้ยว และเผ็ด โดยปรุงขึ้นมาในหลายลักษณะดังนี้ แกง (แกงเผ็ด แกงคั่ว แกงส้ม แกงจืด ฯลฯ) ผัด (ผัดจืด ผัดเผ็ด ผัดเปรี้ยวหวาน ฯลฯ) ยำ (ยำถั่วพู ยำทวาย ยำหัวปลี ฯลฯ) ทอด เผา หรือย่าง (เนื้อสัตว์ที่นิยมใช้คือ กุ้ง หมู ปลา ไก่) เครื่องจิ้ม (น้ำพริก กะปิคั่ว หลน ฯลฯ) และเครื่องเคียง (เช่น แกงเผ็ด จะมีไข่เค็ม ปลาเค็มหรือเนื้อเค็มเป็นเครื่องเคียง เป็นต้น) ส่วนอาหารหวานของไทยจะมีทั้งชนิดน้ำและแห้ง (เช่น กล้วยบวชชี ขนมเปียกปูน ขนมสอดไส้ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง สังขยา และขนมหม้อแกง เป็นต้น) ขนมหวานชนิดแห้ง ปกติจะทำเป็นขนมอบใส่โหลเพื่อให้เก็บไว้ได้นาน เช่น ขนมกลีบลำดวน ขนมโสมนัส ขนมหน้านวล ขนมทองม้วน ขนมผิง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการแกะสลักหรือปั้นขนมให้เป็นรูปต่างๆอีกด้วย
        อาหารประจำชาติเกาหลี  อาหารที่สำคัญของเกาหลี ได้แก่ “กิมจิ” เป็นผักดองที่มีรสเปรี้ยว เค็ม และเผ็ด มีพริกแดงและกระเทียมเป็นส่วนประกอบ กิมจิเป็นอาหารที่มีชื่อเสียงที่สุดของเกาหลีในนานาชาติ พุลโกกิและคาลบิ “พุลโกกิ” เป็นเนื้อนุ่มที่หั่นบางๆแล้วหมักในซอสที่ทำด้วยซอสถั่วเหลือง น้ำมันงา กระเทียม และเครื่องปรุงรสอื่นๆ เวลารับประทานจะนำมาย่างบนเตาถ่านที่โต๊ะอาหาร ส่วน”คาลบิ” เป็นซี่โครงเนื้อหรือหมูแถบเล็กๆ คาลบิจะย่างบนเตาถ่านอาหารเหมือนกับพุลโกกิ “ชินซอโล” เป็นส่วนผสมของเนื้อปลาและเต้าหู้นำมาเคี่ยวกับน้ำซุปเนื้อบนหม้อไฟบนโต๊ะอาหาร “พิบิมพัพ” ทำจากข้าวสวยผสมกับเนื้อหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ มีผักปรุงรส และไข่ หรืออาจจะราดด้วยโคชูจัง(ซอสพริกรสเผ็ดก็ได้) “คูจอลพัน” เป็นเนื้อและผักซอยเป็นเส้นเล็กๆ ตักวางเป็นไส้บนแป้งแพนเค้กซึ่งวางเป็นชั้นๆ อยู่ตรงกลางของภาชนะใส่ คูจอลพัน แล้วห่อใส่ปากรับประทาน “ซอลลองทัง” เป็นบะหมี่เนื้อปรุงรสด้วยเมล็ดงา เกลือ พริกไทย หอมและน้ำมัน “ซัมเกทัง” เป็นซุปไก่โสม ปรุงรสด้วยเกลือและพริกไทยดำ “เน็งเมียน” เป็นบะหมี่ที่ทำจากแป้งสาลี ในน้ำซุปเนื้อมีส่วนประกอบของหอมสับ หัวไช้เท้า ซอยเป็นเส้นๆและแตงกวา เมล็ดงา และเนื้อหั่นบางๆ เติมน้ำส้มสายชู มัสตาร์ด หรือซอสพริก
     อาหารประจำชาติญี่ปุ่น  อาหารญี่ปุ่นทั่วไปประกอบด้วย ข้าว ผัก ซุปปรุงรสเต้าเจี้ยวญี่ปุ่น มิโซะ ผักดอง และปลาหรือเนื้อ เป็นข้าวมักรับประทานกับสาหร่ายทะเลตากแห้ง (โนริ) เครื่องปรุงรสที่นิยมใช้คือ ซอสถั่วเหลือง (โชยุ) สำหรับอาหารญี่ปุ่นที่สำคัญ ได้แก่ “ซาชิมิ” เป็นปลาดิบชิ้นบางๆ รับประทานพร้อมกับมัสตาร์ดเขียว “ซูชิ” เป็นการผสมผสานกันระหว่างปลากับข้าว โดยการวางชิ้นปลาดิบที่แล่บางๆบนข้าวที่ปั้นอย่างประณีต ซูชิ มี 3 ชนิด ได้แก่ “นิงิริ ซูชิ” เป็นข้าวที่ปั้นเป็นก้อนรูปวงรีแล้ววางเนื้อปลาดิบไว้ข้างบนอาจจะเสริมรสด้วยสาหร่ายทะเลก็ได้ “มากิ ซูชิ” เป็นข้าวห่อสาหร่ายที่มีปลาดิบและผักอยู่ด้านในและ “เทมากิ ซูชิ” เป็นข้าวที่มีปลาดิบอยู่ด้านในแล้วห่อเป็นรูปกรวย “ชาบุ ชาบุ” เป็นอาหารประเภทหม้อไฟที่รับประทานคล้าย “จิ้มจุ่ม” ของไทย คือขั้นตอนแรก ต้มน้ำซุปด้วยเนื้อวัวหรือหมูให้เดือด แล้วเติมผักที่ชอบลงไป เช่น เห็ดหอมสด เห็ดเข็มทอง ผักกาดขาว เป็นต้น ส่วนเนื้อหรือหมู จะใช้วิธีจุ่มลงไปในน้ำเดือดๆ ให้พอสุก แล้วนำมารับประทานกับน้ำจิ้มประกอบด้วยซีอิ๊วญี่ปุ่น น้ำส้มสายชูและน้ำมะนาว“โซบะและอุดง” (โซบะเป็นก๋วยเตี๋ยวที่ทำมาจากแป้งของบัควีต ส่วนอุดงเป็นก๋วยเตี๋ยวที่ทำจากแป้งของข้าวสาลี โซบะและอุดงจะรับประทานกับน้ำซุป โรยหน้าด้วยผัก เต้าหู้ทอดหรือเทมปุระ โดยปกติโซบะและอุดงจะรับประทานแบบร้อน แต่ในช่วงฤดูร้อนจะมีการทำเพื่อรับประทานแบบเย็น
       2.วัฒนธรรมด้านที่อยู่อาศัย
       มีความแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ทั้งในเรื่องของการใช้วัสดุและรูปทรง เช่น คนไทยนิยมสร้างบ้านด้วยไม้ มีใต้ถุนสูง เพื่อให้บ้านโปร่ง สบาย น้ำไม่ท่วม เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมจึงนิยมปลูกบ้านริมแม่น้ำ ออกแบบให้เป็นหลังคาทรงสูง เพื่อให้อากาศถ่ายเทและให้ความร่มเย็นแก่ผู้อยู่อาศัย นอกจากนี้ยังมีชายคาที่ยื่นยาวออกมาปกคลุมตัวบ้านมากกว่าบ้านทรงยุโรป เพื่อป้องกันแดดและฝน เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในภูมิประเทศเขตร้อน มีฝนตกชุก ในขณะที่คนจีนนิยมสร้างบ้านด้วยดินเหนียวผสมหญ้าหรือหญ้าฟาง รูปทรงคล้ายตึก เพราะอยู่ในภูมิประเทศที่มีอากาศหนาว จึงต้องสร้างบ้านให้กันลมหนาวได้ ส่วนชาวยุโรปมักสร้างบ้านเรือนเป็นตึกก่ออิฐหรือเทคอนกรีต
      3.วัฒนธรรมด้านการแต่งกาย
      แต่ละประเทศล้วนมีการแต่งกายประจำชาติ ที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาและความเป็นมาในทางประวัติศาสตร์ ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งประจำชาติ เครื่องแต่งกายแต่ละแบบนั้นมีความละเอียดอ่อนในการทำตั้งแต่วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น การออกแบบ กระบวนการทำเครื่องแต่งกาย ความเหมาะสม การปรับตัวต่อสภาพพื้นที่การสะท้อนความเป็นตัวตนของประเทศตน เป็นต้น
      ชุดประจำชาติไทย  เป็นสิ่งประดิษฐ์เพื่อการสวมใส่มีทั้งของบุรุษและสตรี เครื่องแต่งกายของบุรุษเรียกว่า ชุดพระราชทาน เสื้อชุดพรราชทานใช้คู่กับกางเกงแบบสากลนิยมสีสุภาพ หรือสีเดียวกับเสื้อ ส่วนการแต่งการแบบไทยของสตรี เช่น ชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยจักรี ชุดไทยดุสิต ชุดไทยประยุกต์ เป็นต้น
      “กิโมโน” เป็นชุดประจำชาติของญี่ปุ่น  กิโมโนเป็นชุดที่พันรอบตัวละผูกด้วยผ้าคาด (โอบิ) ชุดของผู้ชายค่อนข้างอนุรักษ์นิยม คือ มักจะใส่สีดำ น้ำตาล เทา และขาว ชุดกิโมโนสำหรับหญิงรุ่นสาวมีสีสว่างสดใสและสีสันลวดลายสวยงามสำหรับหญิงสูงวัยสีของเสื้อจะสุภาพและนุ่มนวล สำหรับกิโมโนของเด็กจะเหมือนกับของผู้ใหญ่ แต่จะใช้สีสันและลวดลายที่สดใสกว่า ชาวญี่ปุ่นมักใส่กิโมโนในวันสำคัญ เช่น วันขึ้นปีใหม่ เป็นต้น ชาวญี่ปุ่นดูแลชุดกิโมโนของตนอย่างดี และจะมอบต่อจากแม่สู่ลูกสาว และพ่อสู่ลูกชาย
      “ฮันบก” เป็นชุดประจำชาติของเกาหลี  ฮันบกเป็นชุดตัดเย็บในลักษณะหลวมๆ เพื่อปกปิดสรีระตามธรรมชาติของร่างกาย ผู้ชายจะสวมชอโกรี (เสื้อคอปิด แขนยาว) กับพาจิ (กางเกงขายาวโป่งพอง) ขณะที่ผู้หณิงจะสวมกระโปรงยาวถึงพื้น เอวสูงมาก เรียกว่า “ซีม่า” และเสื้อแขนยาวหลวมๆ เสื้อตัวสั้นมาก มีริบบิ้นขนาดใหญ่และยาวผูกอยู่เหนืออก คอเสื้อเป็นรูปตัววี ในปัจจุบันฮันบกใช้ใส่เฉพาะโอกาสที่มีการเฉลิมฉลอง เช่น วันแต่งงาน วันซอลลัล วันชูซก เป็นต้น
        4.วัฒนธรรมด้านศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว 
        ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว คือ ศาสตร์แขนงหนึ่งที่เน้นการเรียนและฝึกฝนด้านการต่อสู้และป้องกันตัว ซึ่งมีหลายลักษณะด้วยกันแตกต่างกันไปในแต่ละชาติ
        ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวประจำชาติของไทย มวยไทยเป็นศิลปะประจำชาติไทยที่คนไทยสามารถใช้ได้อย่างคล่องแคล่วมวยไทยเป็นศิลปะชั้นสูงของการใช้อวัยวะ 6 ประเภท ได้แก่ หมัด ศอก แขน เท้า แข้ง และเข่า มาใช้ในการต่อสู้ป้องกันตัว
        ศิลปะการป้องกันตัวประจำชาติของญี่ปุ่น คือ ยูโด เป็นศิลปะการต่อสู้ที่ใช้เมื่ออยู่ในจังหวะประชิดตัว โดยใช้หลักการยืมพลังของคู่ต่อสู้มาเป็นพลังของตน และคาราเต้ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างเป็นจังหวะ เช่น การชก การเตะ การกระแทก การผสมผสานระหว่างการปัดป้องและการจู่โจมในเวลาเดียวกัน
        ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวประจำชาติของเกาหลี  คือ เทควันโด (เท แปลว่า มือ ควัน แปลว่า เท้า โด แปลว่า สติ ดังนั้น เทควันโด จึงหมายถึง ศิลปะการต่อสู้โดยใช้มือและเท้าอย่างมีสติ) เป็นศิลปะการเคลื่อนไหวที่เน้นการใช้เท้าเตะสูงและรวดเร็ว ในกระบวนท่าร่ายรำของเทควันโดประกอบไปด้วยกาปัด ปิด ป้องกัน การชก ใช้กำปั้นสันมือ และนิ้วมือ การหัก การเตะ การขยับหมุน เคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น การหมุนตัว เหวี่ยงเท้า การเตะ การกระโดด เป็นต้น
       5.วัฒนธรรมด้านศิลปะการแสดง 
       ละคร เป็นมหรสพอย่างหนึ่งที่เล่นเป็นเรื่องราวต่างๆ มีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละชาติ
    ละครของไทย แบ่งออกเป็น ละครรำแบบดั้งเดิม ได้แก่ละครชาตรี (นิยมแสดงเรื่องมโนราห์และรถเสน)
ละครนอก (เรื่องที่นำมาแสดง เช่น หลวิชัยคาวี พิกุลทอง มโนราห์  มณีพิชัย สังข์ทอง ละครใน (เรื่องที่แสดงคือ รามเกียรติ์ อุณรุท และอิเหนา) และละครที่ประยุกต์ขึ้นใหม่ ได้แก่ ละครพันทาง (เรื่องที่นำมาแสดง เช่น พระอภัยมณี พระลอ ราชาธิราช) ละครเสภา (เรื่องที่นำมาแสดง เช่น นิทราชาคริต ขุนช้างขุนแผน) ละครสังคีต (เรื่องที่นำมาแสดง เช่น หนามยอกเอาหนามบ่ง วิวาห์พระสมุทร) ละครร้อง (เรื่องที่นำมาแสดง เช่น สาวิตรี สาวเครือฟ้า กากี เป็นต้น) ละครพูด (เรื่องที่นำมาแสดง เช่น มัทนะพาธา ชิงนาง เวนิสวาณิช) ละครเพลง (เรื่องที่นำมาแสดง เช่น จันทร์เจ้าขา ฝนสั่งฟ้า)
       ละครของญี่ปุ่น มีการแสดงละคร 3 รูปแบบคือ ละครโน เป็นละครที่เก่าแก่ที่สุด ได้รับความนิยมในศตวรรษที่14 ละครโนมีลักษณะเรียบง่าย ตัวละครจะสวมหน้ากากและแต่งกายแบบโบราณ การพูดและการเคลื่อนไหวของตัวละครจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า ละครบุนระกุ เป็นละครหุ่นที่เริ่มแสดงในศตวรรษที่16 ตัวหุ่นจะมีการสร้างขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของมนุษย์ และคล้ายกับมนุษย์มากการแสดงจะใช้คนจริงเล่นร่วมกับหุ่นโดยคนเป้นผู้ชักหุ่นให้เคลื่อนไหวไปมาบนเวทีด้วยกันกับหุ่น ละครคาบูกิ เป็นละครที่พัฒนาขึ้นในศตวรรษที่17 การแสดงจะเน้นไปที่ความตื่นเต้นเร้าใจ เช่น การต่อสู้ การร่ายรำอาวุธ รวมไปถึงการใช้เทคนิคพิเศษเข้ามาช่วยในการแสดง เช่น ฉากพายุหิมะ  ฟ้าร้อง เครื่องแต่งกายของตัวละครจะวิจิตรงดงามและสีสันสดใส
วิธีการเลือกรับวัฒนธรรมสากล
      ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับนานาชาติมีมาช้านาน เนื่องจากไทยมีการติดต่อสัมพันธ์กับนานาชาติตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยเฉพาะจีนและอินเดียเป็นสองชาติแรกที่มีการติดต่อค้าขายกับไทย จึงทำให้ไทยได้รับวัฒนธรรมทั้งด้านภาษา ศาสนา และความเชื่อ ต่อมาเมื่อมีการติดต่อกับชาติตะวันตก ไทยจึงได้รับวิทยาการทางเทคโนโลยีจากชนชาติตะวันตก
     วิธีการเลือกรับวัฒนธรรมสากลของไทย มีดังนี้
     1.เลือกรับวัฒนธรรมที่เป็นประโยชน์ ช่วงที่มีการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก เพื่อมิให้ตนเองตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก ไทยจึงรับวัฒนธรรมจากชาติตะวันตก ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส หลายประการ เช่น การฝึกทหารแบบตะวันตก ระบบกฎหมายและการศาล ระบบการเงินการคลัง การชลประทาน การสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศในเวลาต่อมา
    2.เลือกรับโดยการผสมผสานของวัฒนธรรม  โดยการนำวัฒนธรรมของต่างชาติมาปรับใช้ผสมผสานกับวัฒนธรรมไทยให้เกิดความสมดุล เหมาะกับวิถีชีวิตของคนไทย ได้แก่ ศาสนาพราหมณ์ของอินเดีย ที่มีอิทธิพลในกานดำเนินชีวิตของประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย โดยผสมผสานไปกับพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์อย่างแยกกันไม่ออก จนกลายเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีไทย เช่น ประเพณีการเกิด การขึ้นบ้านใหม่ การแต่งงาน การตาย เป็นต้น การรับวัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนาของจีน ซึ่งเป็นการผสมผสานความเชื่อระหว่างศาสนาพุทธ การบูชาบรรพบุรุษ การนับถือเจ้า นอกจากนี้ยังมีเทศกาลสำคัญที่มีอิทธิพลต่อชาวไทยเชื้อสายจีน เช่น เทศกาลไหว้บรรพบุรุษ ไหว้พระจันทร์ เทศกาลกินเจ เป็นต้น   
 มนุษย์กับสังคม

       ประเภทของสัตว์ทางสังคมวิทยา แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

                1. สัตว์สังคม เป็นสัตว์ที่อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกันและกัน เช่น ผึ้ง แตน ต่อ ช้าง เป็นต้น
                2.
 สัตว์โลก เป็นสัตว์ที่ดำรงชีวิตตามลำพังได้โดยไม่ต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก็ได้ เช่น จระเข้ แมว สุนัข แรด เป็นต้น

       มนุษย์จัดเป็นสัตว์สังคมจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยมีลักษณะพิเศษเหนือกว่าสัตว์อื่น ๆ เพราะมีลักษณะดังนี้ 
                1. อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม
                2. มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
                3. มีความสัมพันธ์กันทางสังคม
                4. มีการจัดระเบียบทางสังคม


   ลักษณะพื้นฐานทางสังคม 

         สังคมมนุษย์หรือสังคมสัตว์จะมีลักษณะพื้นฐานร่วมกัน คือ
                1. ระดับความสัมพันธ์ ต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่มาอยู่ร่วมกันสูงกว่าการมารวมเป็นกลุ่มเฉย ๆ
                2. หน่วยที่มารวมตัวกันต้องเป็นอิสระแยกอยู่ต่างหากจากกัน

        ลักษณะพิเศษของมนุษย์ที่แตกต่างจากสัตว์อื่น
                1. มีมันสมองขนาดใหญ่สามารถใช้สมองได้ดีกว่า มีสติปัญญาสูงและเฉลียวฉลาดกว่าสัตว์ เช่น 
มีการทดสอบข้อเท็จจริง มีการตั้งโจทย์  ปัญหา มีการศึกษาค้นคว้า เป็นต้น                                      
                2. มนุษย์สามารถสร้างและใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ได้ดี เช่น ภาษา ท่าทาง กริยา เครื่องหมายต่าง ๆ  ทำให้สามารถมนุษย์ถ่ายทอดลักษณะวัฒนธรรมต่อกันได้อย่างกว้างขวาง
                3. มนุษย์มีพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากสังคมและวัฒนธรรมทำให้สังคมมนุษย์มีความเป็นระเบียบและสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าให้สังคมได้

       สิ่งที่มนุษย์ต่างจากสัตว์อื่น
                1. มีมันสมองขนาดใหญ่ ทำให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด
                2. มีร่างกายตั้งตรงกับพื้นโลก สามารถใช้มือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                3. มีหัวแม่มืออยู่ตรงข้ามกับนิ้วอื่น ๆ และไม่ติดกัน
                4. มีดวงตาอยู่ด้านหน้า สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ดี
                5. มีความต้องการทางเพศไม่จำกัดฤดูกาล
                6. มีระบบประสาทที่สลับซับซ้อน 

สังคมมนุษย์ 
             สังคม หมายถึง กลุ่มของสิ่งมีชีวิตที่มาอยู่รวมกันโดยมีความสัมพันธ์กันในลักษณะคงทนถาวร
             สังคมมนุษย์ หมายถึง กลุ่มชนที่อาศัยอยู่ร่วมกันในดินแดนหนึ่ง มีความสัมพันธ์กันภายใต้ระเบียบและกฎเกณฑ์เดียวกัน                                   มีลักษณะวัฒนธรรมเหมือนกัน
       ลักษณะที่สำคัญของสังคม 
               1. มีอาณาเขต บริเวณที่อยู่อาศัยที่แน่นอน
               2. ประกอบด้วยกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกันอย่างถาวรทุกเพศทุกวัย
               3. มีความสัมพันธ์ทางสังคม และพึ่งพาอาศัยกัน
               4. เป็นกลุ่มคนที่มีอิสระในการประกอบอาชีพและเลี้ยงตัวเองได้
               5. กลุ่มดำเนินไปเรื่อย ๆ ดำรงอยู่และสืบทอดโดยอนุชนรุ่นหลัง
               6. มีวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตเด่นชัดเป็นของตนเอง

        สาเหตุที่มนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคม 
               1. เพื่อสนองความต้องการพื้นฐาน ได้แก่
                     - ความต้องการทางกายภาพ เช่น ต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต
                     - ความต้องการทางชีวภาพ เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค
                     - ความต้องการทางจิตใจ เช่น ความรัก ความอบอุ่น
                     - ความต้องการทางสังคม เช่น ต้องการเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม อันทำให้เกิดอำนาจ เกียรติยศชื่อเสียง
               2. เพื่อทำให้มีความเป็นมนุษย์สมบูรณ์
               3. เพื่อสร้างความเจริญให้กับตนเองและสังคม
   
         หน้าที่ของสังคมมนุษย์ 
               1. ผลิตสมาชิกใหม่และทำนุบำรุงสมาชิกเก่า
               2. ผลิตสินค้าและบริการเพื่อสนองความต้องการ
               3. อบรมสมาชิกให้เรียนรู้ระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคม
         ลักษณะที่มนุษย์เหมือนกับสัตว์อื่น 
               1. ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมทั้งทางชีวภาพ และทางธรรมชาติเพื่อบำบัดความต้องการต่าง ๆ
               2. มีลักษณะคล้ายผู้ให้กำเนิดหรือบรรพบุรุษ
               3. สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ ผู้ที่ปรับตัวไม่ได้จึงมักเสียเปรียบ
               4. มีความสามารถแสวงหา หรือค้นคว้าวิธีการต่อสู้เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนต้องการ
               5. ต้องการอาหาร น้ำ อากาศ และที่อยู่อาศัย
               6. มีความสามารถในการสืบพันธ์ หรือสร้างสมาชิกใหม่

วัฒนธรรม 
            วัฒนธรรม หมายถึง ความเจริญงอกงามทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจที่มนุษย์สร้างขึ้นในสังคมหนึ่ง   ที่มีการสืบทอดมาเป็นเวลานานและตกทอดไปสู่ชนรุ่นหลัง ได้แก่ ภาษา ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี การแต่งกาย เป็นต้น
       ประเภทของวัฒนธรรม
               1. วัฒนธรรมทางวัตถุหรือรูปนาม ได้แก่ สิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ เช่น ตู้เย็น โทรทัศน์ สถาปัตยกรรม เครื่องจักรกล
               2. วัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุหรือนามธรรม ได้แก่ ภาษา อุดมการณ์ ค่านิยม ขนบธรรมเนียมประเพณี
       ลักษณะของวัฒนธรรม
               1. เกิดจากการเรียนรู้ ไม่ใช่ถ่ายทอดทางชีวภาพหรือกรรมพันธุ์
               2. เป็นวิถีชีวิตหรือแบบแผนการดำรงชีวิต
               3. เป็นมรดกทางสังคมถ่ายทอดมาสู่ชนรุ่นหลังได้
               4. มีการเปลี่ยนแปลงได้ ปรับปรุงให้ดีขึ้นหรือสูญสลายไป
               5. เพื่อตอบสนองความต้องการของสมาชิกในสังคม
       ความสำคัญของวัฒนธรรม 
               1. สนองความต้องการของมนุษย์
               2. เป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบทางสังคม
               3. สร้างความเจริญให้สังคม
               4. สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแก่สมาชิก
               5. สร้างเอกลักษณ์ของสังคม
               6. สร้างมรดกทางสังคม
       ลักษณะสำคัญของวัฒนธรรมไทย 
               1. เป็นวัฒนธรรมที่นับถือระบบเครือญาติ
               2. เป็นวัฒนธรรมที่เชื่อถือในการบุญการกุศลในเทศกาลต่าง ๆ
               3. เป็นวัฒนธรรมที่มีแบบแผนพิธีกรรม มีขั้นตอนต่าง ๆ ในการประกอบพิธี
               4. เป็นวัฒนธรรมแบบเกษตรกรรม
               5. เป็นวัฒนธรรมที่นิยมความสนุกสนาน การละเล่นที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของงาน
               6. เป็นวัฒนธรรมผสมผสานของวัฒนธรรมชาติอื่น ๆ เข้าผสมผสานด้วย